ประเด็นร้อน

เรียกถกสหกรณ์รับเกณฑ์คุมเข้มบังคับใช้ 1 มิ.ย นี้

โดย ACT โพสเมื่อ May 12,2017

 กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมคลอดเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน 1 มิ.ย.นี้  กำหนดเพดานเบี้ยเงินฝากไม่เกิน  3.5% ต่อปี จ่ายปันผลไม่เกิน 6%  มีสภาพคล่อง อย่างน้อย 6% ก่อหนี้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่า พร้อม ปล่อยกู้กับสหกรณ์ได้รายละไม่เกิน 10% กรณีไม่มีหลักประกัน กู้ได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท  ขณะการลงทุนตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่เกิน 10%


กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ สหกรณ์ ว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการทาง การเงินสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ในแนวทางปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในวันที่ 18 พ.ค.นี้
          
ทั้งนี้ เกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลให้การกำกับดูแลสหกรณ์ที่เข้มข้นขึ้น
          
แนวการกำกับดูแลใหม่เกิดขึ้นภายหลังเกิดกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อปี 2556 ซึ่งเกิดการฉ้อโกงของกรรมการบางคน ส่งผลให้กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์อย่างมาก รวมทั้งเกิดกรณี ฉ้อโกงอื่นๆ อีกหลายคดี
          
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาล ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา อาจ ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวม เนื่องจากปัจจุบันสหกรณ์ทั่วประเทศ 8,074 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 2 ล้านล้านบาท
          
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะมีผู้แทนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มี สินทรัพย์ตั้งแต่ 5,๐๐๐ ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 136 สหกรณ์ และที่มีสินทรัพย์ น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทจำนวน 64 สหกรณ์รวม 200 สหกรณ์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
          
"สมาชิกที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟัง หรือเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ บริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มี ประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและมีความ โปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ"
          
นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีสาระสำคัญ ตั้งแต่การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทไม่เกิน 3.5% ต่อปี และกำหนดอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิก ไม่เกิน 6% ต่อปี แต่ต้องไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิ
          
ด้านการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่า 6 % ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสหกรณ์ และกำหนดความสามารถในการก่อหนี้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว
          
นอกจากนี้ การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ กำหนดให้สหกรณ์ปล่อยกู้กับสหกรณ์ได้รายละไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรอง และไม่เกิน 15 ล้านบาท ในกรณีที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อไม่ให้สินเชื่อกระจุกตัว ที่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทุนของสหกรณ์ในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และต้องไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง เพื่อไม่ให้การลงทุนของสหกรณ์มีความเสี่ยงสูง
          
สำหรับคุณสมบัติของสมาชิกสมทบ กำหนดให้รับได้เฉพาะบิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรของสมาชิกสหกรณ์นั้น หรือบุคคลในหน่วยงานที่ขาดคุณสมบัติจะเป็นสมาชิกเท่านั้น เพื่อป้องกันการระดมทุนจากภายนอก และสหกรณ์จะต้องรายงานธุรกรรมทางการเงินต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกเดือน เพื่อให้สามารถติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงกำหนดมาตรฐานการสอบบัญชีให้ใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับ ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ของงบการเงินด้วย
          
เกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ จะเป็นการกำกับดูแลสหกรณ์ ที่เข้มข้นขึ้น เป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยลด ข้อกังวลจากทุกภาคส่วนที่มีต่อเสถียรภาพทางการเงินและความมั่นคงของสหกรณ์ ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศ และยังช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจ ส่งผลกระทบ ต่อสถานะทางการเงินสหกรณ์ทั้งระบบด้วย
          
สำหรับเกณฑ์กำกับดูแลด้าน ธรรมาภิบาลนี้ กำหนดให้องค์ประกอบ คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ ขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป อย่างน้อย 3 คน ต้องมีความรู้ความชำนาญด้านการเงิน การบัญชีและการบริหารจัดการ และจัดตั้งอนุกรรมการ 5 คณะเป็นอย่างน้อย คือตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง สินเชื่อ ลงทุนและ บริหารสินทรัพย์และหนี้สิน